โรคนี้ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด ดังนั้น การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงที่แน่นอนคือ “การตรวจวัดความดันโลหิต” ในขณะที่ไม่มีอาการผิดปกติ คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าความดันโลหิตสูงจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ (ทำให้คิดว่าถ้าไม่มีอาการปวดศีรษะก็จะนึกว่าไม่เป็นความดันโลหิตสูง) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความดันโลหิตสูงที่จะแสดงอาการปวดศีรษะนั้นพบได้น้อยมาก และอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ก็มักมาจากสาเหตุอื่น ๆ มากกว่าความดันโลหิตสูง เช่น ความเครียด ไมเกรน ฯลฯ แต่เมื่อมีอาการปวด อาจทำให้วัดค่าความดันโลหิตได้สูงกว่าปกติได้ ดังนั้นจึงควรตรวจวินิจฉัยโรค เมื่อไม่มีอาการปวดแล้ว
อันตรายของโรคความดันโลหิตสูง
หากไม่ได้รับการักษาหรือปล่อยให้ความโลหิตสูงเป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยมักจะเกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ตามมาอย่างถาวร ย้อนกลับไม่ได้ เช่น สมอง ประสาทตา หัวใจ ไต หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแทบทุกส่วนของร่างกายเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญนั้น
ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยปล่อยให้ดันโลหิตสูงอยู่นานเป็นแรมปี หากผู้ป่วยรักษาอย่างจริงจัง โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะลดน้อยลงและสามารถมีชีวิตยืนยาวได้เช่นคนปกติ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงควรติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด แม้ว่าจะรู้สึกสบายดีแล้วหรือไม่มีอาการผิดปกติเลยก็ตามก็ควรหมั่นตรวจวัดความดันเป็นประจำ อาจเป็นเดือนละ 1-2 ครั้ง อาจวัดกันเองที่บ้านหรือให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านช่วยตรวจวัดให้ก็ได้ และควรลงสมุดบันทึกไว้ด้วยเพื่อนำไปให้แพทย์ดูในการตรวจครั้งต่อไป
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
การปรับพฤติกรรม
- การคุมอาหาร - บริโภคอาหารควบคุมความดัน หรือ อาหารแดช (Dietary approaches to stop hypertension – DASH Diet) โดยการเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เมล็ดธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ปลา ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ (เนื้อแดง)
- แป้ง น้ำตาล ของหวาน ไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล และลดการบริโภคอาหารเค็มหรือโซเดียม (เช่น ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ปลาเค็ม น้ำพริก กะปิ ปลาร้า หนำเลี้ยบ อาหารที่ใส่หรือจิ้มเกลือ ของดองเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือซอสที่มีรสเค็ม ฯลฯ) โดยการจำกัดเกลือแกง ให้น้อยกว่าวันละ 6 กรัม หรือ 1 ช้อนชา และลดการบริโภคอาหารที่ใส่ผงฟู ผงชูรส และสารกันบูด และงดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายให้ดื่มได้ไม่เกินวันละ 2 หน่วยการดื่ม ซึ่งเทียบเท่ากับเหล้า 90 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 720 มิลลิลิตร ส่วนผู้หญิงให้ดื่มได้ไม่เกินวันละ 1 หน่วยการดื่ม
- ลดน้ำหนักให้มีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 25 กก./ม.2 (หรือถ้าลดได้น้อยกว่า 23 กก./ม.2 เลยได้ยิ่งดี)
- หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำให้ได้เกือบทุกวัน เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก อย่างน้อยวันละ 30 นาที
- งดการสูบบุหรี่ รวมถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แม้ว่าจะไม่ได้ลดความดันโดยตรงแต่สามารถลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้
- รักษาสุขภาพจิตให้ดี ไม่เครียด เข้าใจและยอมรับชีวิต รวมถึงการหมั่นฝึกผ่อนคลายความเครียดและบริหารสุขภาพจิตอยู่เสมอ เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ โยคะ รำมวยจีน ชี่กง ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ ฯลฯ
การรับประทานยา
ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน และไม่หยุดยาเอง แม้ว่าจะรู้สึกว่าสบายดีหรือความดันลดลงแล้วก็ตาม เนื่องจากความดันที่สูงกว่าปกติ แม้ไม่มีอาการ ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และเพิ่มความเสื่อมของไตได้ โดยการลดยาหรือหยุดยานั้นผู้ป่วยควรให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อแพทย์ให้ยาจนความดันลดเป็นปกติได้ติดต่อกันนาน 1 ปี แพทย์อาจลดขนาดของยาลงทีละน้อย แล้วตรวจวัดความดันเป็นระยะ ๆ ถ้าความดันปกติแพทย์จะให้ยาในขนาดนั้น ๆ หรือค่อย ๆ ลดขนาดยาลงจนหยุดยาไปเลย แต่ยังต้องหมั่นตรวจวัดความดันผู้ป่วยต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าความดันขึ้นสูงใหม่ก็ต้องให้ยาใหม่ หรือเพิ่มขนาดของยาขึ้นไปใหม่ ( มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้ยาควบคุมความดันไปตลอดชีวิต )
การหาเครื่องวัดความดัน
ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจวัดความดันที่บ้านจะมีค่าปกติ คือน้อยกว่า 130 และ 80 แต่เมื่อไปตรวจวัดที่สถานพยาบาลอาจพบว่าความดันโลหิตสูงก็ได้ ซึ่งอาการลักษณะนี้จะเรียกว่า “White-coat hypertension” ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงควรมีเครื่องวัดความดันไว้คอยตรวจวัดเองที่บ้าน เพราะจะช่วยประเมินค่าความดันได้ดีกว่า
|